หากต้องพูดถึงการเรียนแบบระบบ House System หลายคนคงนึกถึงภาพยนตร์ดังอย่าง Harry Potter ที่มีหมวกคัดสรรคอยเลือกบ้านให้เด็กนักเรียนคนใหม่เข้าไปอยู่ในแต่ละหลังประกอบด้วยกริฟฟินดอร์ สลิธีรีน เรเวนคลอ และฮัฟเฟิลพัฟ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับระบบ House System ในโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษ ส่วนชื่อบ้านนั้นจะขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนเป็นผู้ตั้ง ยกตัวอย่าง St. Andrews Dusit มีระบบบ้านทั้งหมด 4 บ้าน แต่ละหลังเป็นชื่อชนเผ่าทางภาคเหนือของไทย บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนไปดูว่าระบบ House System มีข้อดีอะไรบ้าง และช่วยเสริมศักยภาพของเด็กอย่างไรบ้าง
Content Highlight
- House System คือ การแบ่งนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนที่มีอายุแตกต่างกัน มารวมอยู่ในระบบบ้านหลังเดียวกัน เพื่อทำความรู้จักและทำกิจกรรมร่วมกัน
- ระบบบ้านช่วยให้เด็กฝึกทักษะความเป็นผู้นำ การเข้าสังคม การทำงานกันเป็นทีม ไปจนถึงการสื่อสารร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
- ตัวอย่างกิจกรรมในระบบ House System เช่น กีฬาสี แข่งตอบคำถาม หรือการแสดงละคร
House System คืออะไร ทำไมโรงเรียนนานาชาติเลือกใช้ระบบนี้
ระบบ House System ในโรงเรียนนานาชาติ คือ การแบ่งนักเรียนแต่ละชั้นมารวมอยู่บ้านหลังเดียวกัน โดยแต่ละบ้านจะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานกีฬาสี การแสดงละคร รวมถึงการทำอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยจุดประสงค์ของระบบนี้ก็เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นให้กับนักเรียนทุก ๆ คนได้ทำความรู้จักกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฝึกทักษะการเข้าสังคมเบื้องต้น จึงทำให้โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งเลือกใช้ระบบนี้กัน
ความเป็นมาของระบบ House System ในโรงเรียน
ระบบ House System มีจุดกำเนิดมาจากโรงเรียนประจำในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ยุคกลาง โดยเฉพาะโรงเรียนอย่าง Eton College และ Harrow School ซึ่งระบบการศึกษานี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสร้างความสามัคคีและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กนักเรียน ในขณะเดียวกันก็ช่วยจัดโครงสร้างการบริหารของโรงเรียนให้เป็นระบบมากขึ้น
สำหรับคำว่า “House” จากเดิมเป็นระบบโรงเรียนประจำที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ โดยแต่ละบ้านจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา (House Master / House Mistress) คอยดูแล และนักเรียนที่โตกว่าจะเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนที่อายุน้อย
ระบบ House System ส่งเสริมภาวะผู้นำของนักเรียนได้อย่างไร
ระบบ House System ช่วยส่งเสริมภาวะผู้นำของนักเรียนได้หลายด้านผ่านบทบาทความรับผิดชอบ การแข่งขันที่สร้างสรรค์ และกิจกรรมกลุ่มพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา ความมั่นใจไปจนถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีม ดังนี้

1. นักเรียนมีโอกาสเป็นผู้นำในบ้านของตนเอง
ตามปกติแล้วระบบ House System จะมีบทบาทสำคัญอยู่หลัก ๆ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ House Captain ผู้นำสูงสุดของแต่ละบ้าน และ Vice House Captain รองหัวหน้าบ้าน ซึ่งนักเรียนที่ถูกเลือกจะได้เรียนรู้ภาวะการเป็นผู้นำผ่านการบริหารบ้านของตนเองอยู่หลายด้าน เช่น การบริหารเวลา ความรับผิดชอบ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ เป็นต้น
2. สร้างโอกาสในการบริหารจัดการและตัดสินใจ
ระบบ House System ในโรงเรียนนานาชาติไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานและการแข่งขันของแต่ละบ้านเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกฝนการบริหารจัดการ และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
3. ช่วยปลูกฝังความรับผิดชอบและจริยธรรมของผู้นำ
สำหรับนักเรียนที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้นำบ้านต้องคอยดูแลเพื่อนร่วมทีมและน้อง ๆ ในบ้านของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างความเป็นผู้นำที่ดีมีความรับผิดชอบและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
4. เสริมสร้างความมั่นใจและทักษะการสื่อสาร
นักเรียนที่เป็นผู้นำบ้านต้องพูดต่อหน้าสมาชิกในทีมพร้อมนำเสนอความคิดของตนเอง ส่งผลให้นักเรียนกล้าพูดและแสดงความคิดต่อที่สาธารณะ และได้พัฒนาทักษะการโน้มน้าวใจในการทำงานร่วมกันเป็นทีมอีกด้วย
5 กิจกรรมยอดนิยมในระบบ House System โรงเรียนนานาชาติ

1. กีฬาสี (House Sports Competitions)
การแข่งขันกีฬาสี เช่น วิ่งผลัด ฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ และกีฬาผาดโผน ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม และส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้นำผ่านการเป็นหัวหน้าทีม
2. การแข่งขันตอบคำถาม (House Quiz)
ฝึกทักษะการแข่งขันด้านวิชาการ เช่น ความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี เพื่อกระตุ้นไหวพริบของนักเรียนรวมถึงการตัดสินใจภายใต้แรงกดดัน
3. การแสดงศิลปะและการละคร (House Performing Arts & Talent Show)
อีกหนึ่งกิจกรรมของระบบ House System คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างความมั่นใจผ่านการเล่นละคร เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนกล้าแสดงออกและฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม
4. โครงการจิตอาสาและงานเพื่อสังคม (Community Service & Charity Events)
ระบบ House System มักจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมอยู่ตลอด เช่น การระดมทุนเพื่อองค์กรการกุศล การปลูกต้นไม้และรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม โครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือเด็กด้อยโอกาส ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมความมีเมตตาและการมีจิตสำนึกต่อนักเรียน

จุดเด่นของระบบ House System
- สร้างความสามัคคี – ระบบ House System เป็นการรวมตัวของนักเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ เพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งผลให้เด็ก ๆ มีมิตรภาพทั้งต่อกันในวงกว้าง
- ส่งเสริมความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ – ระบบ House System เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงภาวะผู้นำและเรียนรู้การทำงานเป็นทีม
- การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ – โรงเรียนนานาชาติมักจัดกิจกรรมการแข่งขันระหว่าง House เช่น กีฬา ศิลปะ วิชาการ และกิจกรรมเพื่อสังคม
- ส่งเสริมความมีระเบียบวินัยและแรงจูงใจ – การมอบรางวัลและการสะสมแต้มบ้านช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
ระบบ House System ที่โรงเรียนนานาชาติ St.Andrews Dusit
ระบบ House System ที่ St.Andrews Dusit มีทั้งหมด 4 บ้าน แต่ละบ้านถูกตั้งตามชื่อชนเผ่าตามฝั่งภาคเหนือของประเทศไทย โดยนักเรียนทุกคนที่เข้ามาศึกษาที่ St.Andrews Dusit จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเป้าหมายของระบบนี้ก็เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละคนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ในขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างนักเรียนต่างระดับชั้นอีกด้วย
ระบบ House System ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในโรงเรียน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าระบบ House System ในโรงเรียนนานาชาติเป็นระบบที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นไปที่ความสามัคคี การอยู่ร่วมกับคนในสังคม และภาวะการเป็นผู้นำของนักเรียน ที่สำคัญนักเรียนยังได้รับประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนต่างช่วงวัยอีกด้วย จึงทำให้ระบบนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเป็นอย่างมาก