Active Learning คือวิธีการสอนที่เน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก
April 10, 2025

Active Learning การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อดึงศักยภาพแท้จริง

หลายคนทราบกันดีว่ารูปแบบการเรียนการสอนส่วนใหญ่ในโรงเรียนนานาชาติ จะค่อนข้างแตกต่างกับโรงเรียนทั่วไปในประเทศไทย เราอาจคุ้นชินกับการที่คุณครูเป็นผู้มอบความรู้ นักเรียนมีหน้าที่ทำความเข้าใจและจดจำเนื้อหาเหล่านั้น แต่สำหรับโรงเรียนนานาชาติจะรูปแบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า “Active Learning” ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำมากกว่าการเป็นผู้ฟังอย่างเดียว การเรียนแบบ Active Learning คืออะไร แล้วกิจกรรมของการเรียนแบบ Active Learning มีอะไรบ้าง มาดูไปพร้อมกันเลย

Content Highlight

  • Active Learning เป็นวิธีการสอนที่เน้นไปที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก เน้นลงมือทำมากกว่าท่องจำ คุณครูจะออกแบบเนื้อหาที่เข้ากับความต้องการและความถนัดของเด็กในห้องเรียน
  • รูปแบบการเรียนแบบ Active Learning ที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยคือ ต้องให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม เพื่อให้พวกเขาจดจ่อกับเนื้อหาและสนุกไปกับการเรียนรู้
  • ตัวอย่างกิจกรรม Active Learning ได้แก่ การสัมภาษณ์แบบ 3 ขั้นตอน, การแสดงบทบาทสมมติ, กิจกรรม Think-Pair-Share และการโต้วาที

Active Learning คืออะไร

Active Learning คือรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การคิด อ่าน เขียน พูคคุยกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหา ไปจนถึงลงมือปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนกลายเป็นคนที่มีบทบาทมากกว่าผู้สอน โดยคุณครูมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำตลอดการเรียนรู้ ถือเป็นการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนไปพร้อมกัน

ซึ่งวิธีการเรียนรู้แบบ Active Learning ไม่ได้มีแพตเทิร์นตายตัว เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น Active Learning สำหรับเด็กอนุบาลจึงสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนได้ จะเป็นการตั้งประเด็นคำถาม สร้างโปรเจกต์ขึ้นมา หรือการเล่นเกมก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้เด็กทุกคนมีการโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้น ๆ อยู่เสมอ

องค์ประกอบสำคัญของ Active Learning มีอะไรบ้าง

1. การมีส่วนร่วมกับการเรียน (Engagement)

เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก เนื้อหาจึงถูกออกแบบตามที่เด็กต้องการ ทำให้เด็กให้ความสนใจและจดจ่อกับเนื้อหาตลอดเวลา กล้าที่จะออกความคิดเห็นและโต้ตอบกับคุณครู

2. ฝึกไตร่ตรองเนื้อหา (Reflection)

คุณครูจะคอยเน้นย้ำเนื้อหา ตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง เด็ก ๆ จะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และเป็นการทบทวนเนื้อหาไปในตัว จนสุดท้ายผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าเดิม

3. การประยุกต์ใช้ (Application)

การได้ลงมือปฏิบัติจริง จะทำให้เด็กรู้วิธีการแก้ไขสถานการณ์ และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเนื้อหาที่ได้เรียนไปนั้นมีความสำคัญอย่างไร ต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในชีวิตจริง

Active Learning ในเด็กอนุบาลสามารถปรับให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนได้

ความสำคัญของ Active Learning ที่มีผลต่อพัฒนาของเด็กปฐมวัย

  • เมื่อการเรียนรู้เป็นการทำกิจกรรมมากกว่าการท่องจำ จะช่วยให้เด็กรู้สึกถูกกระตุ้นให้เรียนรู้ตลอดการเรียน 
  • ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ
  • ได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการปลูกฝัง Soft Skill ตั้งแต่วัยเด็ก
  • เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มีแนวโน้มที่จะตั้งใจเรียนมากขึ้นกว่าเดิม และเมื่อประสบความสำเร็จก็จะยิ่งภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
  • นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น เพราะมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้เล่นและเรียนรู้ ช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเครียดและคลาสเรียนไม่น่าเบื่อ
  • ช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย เช่น การยอมรับหากแก้ไขปัญหาไม่ได้หรือเกิดข้อผิดพลาด เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับเพื่อน และมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น เป็นต้น

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบ Active Learning ในโรงเรียนนานาชาติ

หลังจากเข้าใจความหมายและประโยชน์ของการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติกันไปแล้ว มาดูกันต่อเลยว่ารูปแบบกิจกรรม Active Learning ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กอนุบาลจะมีอะไรกันบ้าง

การสัมภาษณ์แบบ 3 ขั้นตอน (Three-Step Interviews)

เป็นการผลัดบทบาททั้งการเป็นคนสัมภาษณ์ ผู้ถูกสัมภาษณ์ และผู้ชม เพื่อให้รับรู้ถึงมุมมองต่อประเด็นต่าง ๆ ที่แตกต่างกันตามบทบาทที่ได้รับ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นสัมภาษณ์อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม หรือค่านิยม เพื่อเป็นการปลูกฝังการตระหนักต่อสิ่งต่าง ๆ บนโลกให้กับเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ

การแสดงบทบาทสมมติ (Role Play)

การแสดงบทบาทสมมติช่วยให้เด็กฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการสวมบทบาทเป็นตัวละครหรืออาชีพต่าง ๆ ตามโจทย์ที่ได้รับ เช่น แสดงเป็นพนักงานขายและลูกค้า ได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยกับลูกค้า การบวกลบตัวเลขผ่านการคิดราคา และรับมือกับสถานการณ์ที่ลูกค้าไม่พอใจ หรือจำลองสถานการณ์ว่าอยู่ในโรงพยาบาล และสอดแทรกเนื้อหาวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นลงไป เป็นต้น

Role Play คือตัวอย่างการเรียนรู้แบบ Active Learning

กิจกรรม Think-Pair-Share

เป็นวิธีการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน ฝึกทักษะการแสดงความคิดเห็นและรับฟังมุมมองของผู้อื่นที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบกิจกรรมจะเป็นดังนี้

  • Think คุณครูจะทำการตั้งคำถามหรือสถานการณ์ปลายเปิดให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ภายในเวลา 2 – 3 นาที 
  • Pair นักเรียนจับคู่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จากนั้นสรุปประเด็นและสาระสำคัญออกมา
  • Share นักเรียนแต่ละคนออกมาอธิปรายสิ่งที่ได้จากมุมมองของเพื่อนและตนเองหน้าชั้นเรียน

การโต้วาที (Debate)

เป็นตัวอย่างรูปแบบ Active Learning ที่ได้รับความนิยมที่สุด คุณครูจะตั้งหัวข้อขึ้นมาและแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน เพื่อถกเถียงประเด็นเหล่านั้น ฝึกการยืนหยัดในความคิดเห็นของตัวเอง การแสดงออกต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างเหมาะสม และเคารพในความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

พ่อแม่สามารถเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ลูกได้อย่างไรบ้าง

การเรียนรู้แบบ Active Learning ในเด็กปฐมวัยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็สามารถสร้างบรรยากาศการรียนรู้แบบลงมือทำให้กับลูกได้เช่นกัน เริ่มจากการสังเกตพฤติกรรมและความชอบของลูก ว่าเขาสนใจและอยากเรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ จากนั้นพาลูกไปยังสภาพแวดล้อมนั้นบ่อย ๆ เช่น ท่องเที่ยว เยี่ยมชมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่อื่น ๆ เพื่อช่วยเปิดประสบการณ์และได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง สำหรับการเรียนแบบ Active Learning ที่บ้าน ทำได้ด้วยการมีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น หนังสือภาพ เกมปริศนา หรือวิดีโอต่าง ๆ เป็นต้น

สรุป

Active Learning คือตัวอย่างการเรียนรู้ที่ดีสำหรับวัยเด็ก เพราะการคิดวิเคราะห์เป็นทักษะพื้นฐานที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ รวมถึงการได้ลงมือทำจริง จะทำให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคง่าย ๆ อย่างที่บอกไปว่าไม่จำเป็นว่าต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่คุณสามารถฝึกฝนลูกหลานได้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม ขอแค่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาก็พอ